จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

องค์ประกอบศิลป์

 
 
เรื่องความหมายและความสำคัญขององค์ประกอบศิลป์      
           มนุษย์เรารับรู้ถึงความสวยความงาม ความพอใจ ของสิ่งต่างๆได้แตกต่างกับ ระดับความพอใจของแต่ละบุคคล
ก็แตกต่างกันออกไปทั้งนี้อาจขึ้นกับรสนิยม สภาพสังคม ศาสนา ความเชื่อและสิ่งแวดล้อมที่ผู้รับรู้นั้นดำรงชีวิตอยู่ 
หากแต่ว่าผู้รับรู้นั้นได้เข้าใจถึงกระบวนการ องค์ประกอบและพื้นฐานที่สำคัญของสิ่งที่ได้สัมผัส ก็ย่อมทำให้รับรู้ถึงความงาม
 ความพอใจนั้นๆเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง               
           ศิลปะนั้นดูเหมือนว่าจะไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมากนัก เพราะอาศัยแต่ความสุนทรียะทางอารมณ์เพียงประการเดียว
แต่หากว่าได้ศึกษาถึงความสุนทรียะอย่างลึกซึ้งแล้ว จะเห็นว่ามันมีกฎเกณฑ์ในตัวของมันเอง ซึ่งผู้เรียนจะต้องศึกษาถึง
องค์ประกอบต่างๆเหล่านั้นที่ประกอบกันขึ้นเป็นงานศิลปะ  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือผู้เรียนจะต้องเข้าใจในหลัก
องค์ประกอบของศิลปะ เป็นพื้นฐานเสียก่อนจึงจะสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีคุณค่าและรับรู้ถึงความงามทางศิลปะ
ได้อย่างถูกต้อง               


1. ความหมายขององค์ประกอบศิลป์    องค์ประกอบของศิลปะหรือ(Composition )นั้นมาจากภาษาละติน
โดยคำว่า Post นั้นหมายถึง การจัดวาง และคำว่า Comp หมายถึง เข้าด้วยกัน ซึ่งเมื่อนำมารวมกันแล้วในทางศิลปะ
 Composition จึงหมายความถึง องค์ประกอบของศิลปะ การจะเกิดองค์ประกอบศิลป์ได้นั้น ต้องเกิดจากการเอาส่วน
ประกอบของศิลปะ (Element of Art) มาสร้างสรรค์งานศิลปะเข้าด้วยหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ (Principle of Art)
จึงจะเป็นผลงานองค์ประกอบศิลป์  ความหมายขององค์ประกอบศิลป์นั้นได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายเอาไว้
ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้               
               
          คำว่าองค์ประกอบ ตามความหมายพจนานุกรมราชบัณฑิยสถานคือ ส่วนต่างๆที่ประกอบกันทำให้เกิดรูปร่างใหม่ขึ้นโดยเฉพาะ
              
          องค์ประกอบศิลป์ หมายถึง สิ่งที่ศิลปินและนักออกแบบใช้เป็นสื่อในการแสดงออกและสร้างความหมาย
โดยนำมาจัดเข้าด้วยกันและเกิดรูปร่างอันเด่นชัด (สวนศรี   ศรีแพงพงษ์ : 82) 


          องค์ประกอบศิลป์หมายถึง เครื่องหมายหรือรูปแบบที่นำมาจัดรวมกันแล้วเกิดรูปร่างต่างๆ ที่แสดงออกในการสื่อ
ความหมายและความคิดสร้างสรรค์ (สิทธิศักดิ์   ธัญศรีสวัสดิ์กุล : 56)


          องค์ประกอบศิลป์ หมายถึงศิลปะที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดหรือความงาม
ซึ่งประกอบด้วย ส่วนที่มนุษย์สร้างขึ้นและส่วนที่เป็นการแสดงออกอันเป็นผลที่เกิดจากโครงสร้างทางวัตถุ 
(ชลูด   นิ่มเสมอ :18)
             
          องค์ประกอบศิลป์หมายถึง ส่วนประกอบต่างๆของศิลปะ เช่น จุด เส้น รูปร่าง ขนาด สัดส่วน น้ำหนัก แสง เงา
ลักษณะพื้นผิว ที่ว่างและสี (มานิต  กรินพงศ์:51)


          องค์ประกอบศิลป์คือความงาม ความพอดี ลงตัว อันเป็นรากฐานเนื้อหาของศิลปะ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญ
ทางศิลปะให้ผู้สร้างสรรค์ได้สื่อสารความคิดของตนเองไปสู่บุคคลอื่น (สุชาติ เถาทอง,สังคม  ทองมี,ธำรงศักดิ์  ธำรงเลิศ
ฤทธิ์,รอง  ทองดาดาษ: 3)


              จากความหมายต่างๆข้างต้น พอสรุปได้ว่า องค์ประกอบศิลป์ หมายถึงสิ่งที่มนุษย์ใช้เป็นสื่อ
ในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ โดยนำส่วนประกอบของศิลปะมาจัดวางรวมกันอย่างสอดคล้องกลมกลืนและมีความหมาย
เกิดรูปร่างหรือรูปแบบต่างๆอันเด่นชัด


              ซึ่งจากความหมายข้างต้น จะเห็นได้ว่าการที่จะเกิดผลงานศิลปะดีๆสักชิ้นนั้นผู้สร้างสรรค์จะต้องใช้กระบวนการ
ที่หลากหลายมาประกอบกันได้แก่ องค์ประกอบพื้นฐานทางศิลปะ องค์ประกอบของศิลปะ และการจัดองค์ประกอบ
ของศิลปะ มาถ่ายทอดลงในชิ้นงานหรือผลงานนั้นๆเพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณค่าทั้งด้านความงามและมีคุณค่าทางจิตใจ
อันเป็นจุดหมายสำคัญที่ศิลปินทุกคนมุ่งหวังให้เกิดแก่ผู้ชมทั้งหลาย


2.ความสำคัญขององค์ประกอบศิลป์    ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในสาขาต่างๆไม่ว่าจะเป็นสาขาวิจิตรศิลป์
หรือประยุกต์ศิลป์ ผู้สร้างสรรค์นั้นต้องมีความรู้เบื้องต้นด้านศิลปะมาก่อน และศึกษาถึงหลักการองค์ประกอบพื้นฐาน
องค์ประกอบที่สำคัญ การจัดวางองค์ประกอบเหล่านั้น รวมถึงการกำหนดสี ในลักษณะต่างๆเพิ่มเติมให้เกิดความเข้าใจ
เพื่อเวลาที่สร้างผลงานศิลปะ จะได้ผลงานที่มีคุณค่า ความหมายและความงามเป็นที่น่าสนใจแก่ผู้พบเห็น
หากสร้างสรรค์ผลงานโดยขาดองค์ประกอบศิลป์ ผลงานนั้นอาจดูด้อยค่า หมดความหมายหรือไม่น่าสนใจไปเลย
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบศิลป์นั้นมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างงานศิลปะ         
มีนักการศึกษาด้านศิลปะหลายท่านได้ให้ทรรศนะในด้านความสำคัญขององค์ประกอบศิลป์ที่มีต่อการสร้างงานศิลปะไว้
พอจะสรุปได้ดังนี้
                  
          การสร้างสรรค์งานศิลปะให้ได้ดีนั้น ผู้สร้างสรรค์จะต้องทำความเข้าใจกับองค์ประกอบศิลป์เป็นพื้นฐานเสียก่อน
ไม่เช่นนั้นแล้วผลงานที่ออกมามักไม่สมบูรณ์เท่าไรนักซึ่งองค์ประกอบหลักของศิลปะก็คือรูปทรงกับเนื้อหา
(ชลูด  นิ่มเสมอ) 
                                
          องค์ประกอบศิลป์เป็นเสมือนหัวใจดวงหนึ่งของการทำงานศิลปะ เพราะในงานองค์ประกอบศิลป์หนึ่งชิ้น
จะประกอบไปด้วย การร่างภาพ(วาดเส้น) การจัดวางให้เกิดความงาม (จัดภาพ) และการใช้สี(ทฤษฎีสี)
ซึ่งแต่ละอย่างจะต้องเรียนรู้สู่รายละเอียดลึกลงไปอีก องค์ประกอบศิลปืจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่รวบรวมความรู้หลายๆอย่างไว้
ด้วยกัน จึงต้องเรียนรู้ก่อนที่จะศึกษาในเรื่องอื่นๆ (อนันต์   ประภาโส) 
                              
          องค์ประกอบศิลป์  การจัดองค์ประกอบและการใช้สี เป็นหลักการที่สำคัญในการสร้างสรรค์ให้งานศิลปะ
เกิดความงาม ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม วาดเขียน ประติมากรรม สถาปัตยกรรมและการพิมพ์ภาพ หากปราศจากความรู้
ความเข้าใจเสียแล้วผลงานนั้นๆก็จะไม่มีค่าหรือความหมายใดๆเลย  (สวนศรี    ศรีแพงพงษ์)                               
                    
          องค์ประกอบศิลป์จัดเป็นวิชาที่มีความสำคัญสำหรับผู้ศึกษางานศิลปะ หากว่าขาดความรู้ความเข้าใจในวิชานี้แล้ว
ผลงานที่สร้างขึ้นมาก็ยากที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศิลปะสมัยใหม่ที่มีการแสดงเฉพาะ เส้น สี แสง เงา
น้ำหนัก พื้นผิว จังหวะ และบริเวณที่ว่าง มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องนำหลักการองค์ประกอบศิลป์มาใช้ 
         หลักการจัดองค์ประกอบศิลป์มีความวำคัญและเกี่วข้องกับงานทัศนศิลป์โดยตรง ทั้งวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์
การจัดภาพหรือออกแบบสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ให้เกิดคุณค่าความงามนั้น การจัดองค์ประกอบศิลป์จะมีบทบาทสำคัญ
มากที่สุด (จีรพันธ์   สมประสงค์: 15)                                
               
          จากทรรศนะต่างๆ สรุปได้ว่า องค์ประกอบศิลป์เป็นหัวใจสำคัญของงานศิลปะทุกสาขา  เพราะงานศิลปะใดหากขาด
การนำองค์ประกอบศิลป์ไปใช้ ก็จะทำให้งานนั้นดูไม่มีคุณค่า ทั้งด้านทางกายและทางจิตใจของผู้ดูหรือพบเห็นขณะเดียวกัน
ก็จะบ่งบอกถึงภูมิความรู้ ความสามารถของผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นด้วย                                
          การที่จะเข้าถึงศิลปะ(Appreciation) นั้น จะต้องผ่านการฝึกฝนและหาทางดูเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ทั้งจะต้องมี
รสนิยมที่ดีพอสมควร การฝึกฝน การทำซ้ำๆอย่างสนใจ เมื่อนานเข้าก็จะเกิดความเข้าใจ ทำด้วยความคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านั้น
จึงจะเข้าใจ รู้เห็นในคุณค่าของศิลปะนั้นๆได้ดี


องค์ประกอบพื้นฐานด้านนามธรรมของศิลปะ
          องค์ประกอบพื้นฐานด้านนามธรรมของศิลปะ เป็นแนวคิด หรือจุดกำเนิดแรกที่ศิลปินใช้เป็นสิ่งกำหนดทิศทาง
ในการสร้างสรรค์ ก่อนที่จะมีการสร้างผลงานศิลปะ ประกอบด้วย เนื้อหากับเรื่องราว
1.เนื้อหาในทางศิลปะ   คือ ความคิดที่เป็นนามธรรมที่แสดงให้เห็นได้โดยผ่านกระบวนการทางศิลปะ เช่น
ศิลปินต้องการเขียนภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชนบท ก็จะแสดงออกโดยการเขียนภาพทิวทัศน์ของชนบท
หรือภาพวิถีชิวิตของคนในชนบทเป็นต้น
2.เรื่องราวในทางศิลปะ    คือส่วนที่แสดงความคิดทั้งหมดของศิลปินออกมาเป็นรูปธรรมด้วยกระบวนการทางศิลปะ
เช่นศิลปินเขียนภาพชื่อชาวเขา ก็มักแสดงรูปเกี่ยวกับวิถีชีวิต หรือกิจกรรมส่วนหนึ่งของชาวเขา นั่นคือเรื่องราว
ที่ปรากฏออกมาให้เห็น
          ประเภทของความสัมพันธ์ของเนื้อหากับเรื่องราวในงานทัศนศิลป์นั้น เนื้อหากับเรื่องราวจะมีความสัมพันธ์กัน
น้อยหรือมาก หรืออาจไม่สัมพันธ์กันเลย หรืออาจไม่มีเรื่องเลยก็เป็นไปได้ทั้งนั้น โดยขึ้นกับลักษณะของงาน และเจตนา
ในการแสดงออกของศิลปิน ซึ่งเราสามารถแยกได้ดังต่อไปนี้คือ
(1) การเน้นเนื้อหาด้วยเรื่อง
(2) เนื้อหาที่เป็นผลจากการผสมผสานกันของศิลปินกับเรื่อง
(3) เนื้อหาที่เป็นอิสระจากเรื่อง
(4) เนื้อหาไม่มีเรื่อง 
              
          1. การเน้นเนื้อหาด้วยเรื่อง ได้แก่ การใช้เรื่องที่ตรงกับเนื้อหา และเป็นตัวแสดงเนื้อหาของงานโดยตรง
ตัวอย่างเช่น เมื่อศิลปินต้องการให้ความงามทางด้านดอกไม้เป็นเนื้อหาของงาน เขาก็จะหาดอกไม้ที่สวยงามมาเป็นเรื่อง
สีสันและความอ่อนช้อยของกลีบดอกจะช่วยให้เกิดความงามขึ้นในภาพ 
          2.  เนื้อหาที่เป็นผลจากการผสมผสานระหว่างศิลปินกับเรื่อง  ในส่วนนี้ศิลปินจะเสนอความเห็นส่วนตัว หรือผสม
ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปในเรื่อง เป็นการผสมกันระหว่างรูปลักษณะของเรื่องกับจินตนาการของศิลปิน เช่นเรื่องความงาม
ของดอกไม้ โดยศิลปินผสมความรู้สึกนึกคิดของตนเองลงไปในเรื่องด้วย เขาจะดัดแปลง เพิ่มเติมรูปร่างของดอกไม้
ให้งามไปตามทัศนะของเขาและใช้องค์ประกอบทางศิลปะเป็นองค์ประกอบทางรูปทรงให้สอดคล้องกับความงามของเรื่อง 
            
          3.  เนื้อหาที่เป็นอิสระจากเรื่อง   เมื่อศิลปินผสมจินตนาการของตนเองเข้าไปในงานมากขึ้น ความสำคัญของเรื่อง
จะลดลง ดอกไม้ที่สวยที่เป็นแบบอาจถูกศิลปินตัดทอนขัดเกลา หรือเปลี่ยนแปลงมากที่สุด จนเรื่องดอกไม้
นั้นหมดความสำคัญไปอย่างสิ้นเชิง เหลือแต่เนื้อหาที่เป็นอิสระ การทำงานแบบนี้ศิลปินอาศัยเพียงเรื่อง เป็นจุดเริ่มต้นแล้ว
เดินทางห่างออกจากเรื่องจนหายลับไป เหลือแต่รูปทรงและตัวศิลปินเองที่เป็นเนื้อหาของงาน กรณีนี้เนื้อหาภายในซึ่ง
หมายถึงเนื้อหาที่ที่เกิดขึ้นจากการประสานกันของรูปทรงจะมีบทบาทมากกว่าเนื้อหาภายนอก หรือบางครั้งจะไม่แสดงเนื้อหา
ภายนอกออกมาเลย 
              
          4. เนื้อหาไม่มีเรื่อง ศิลปินบางประเภท ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เรื่องเป็นจุดเริ่มต้น งานของเขาไม่มีเรื่อง มีแต่รูปทรง
กับเนื้อหา โดยรูปทรงเป็นเนื้อหาเสียเองโดยตรง เป็นเนื้อหาภายในล้วนๆ เป็นการแสดงความคิด อารมณ์ และบุคลิกภาพ
ของศิลปินแท้ๆ ลงไปในรูปทรงที่บริสุทธิ์ งานประเภทนี้จะเห็นได้ชัดในดนตรีและงานทัศนศิลป์ที่เป็นนามธรรม
และแบบนอนออบเจคตีฟ 
               
         องค์ประกอบพื้นฐานด้านรูปธรรมของศิลปะองค์ประกอบพื้นฐานด้านรูปธรรมของศิลปะ คือสิ่งที่แสดงแนวดิดเกี่ยวกับ
เนื้อหาและเรื่องราวของศิลปินให้เห็นหรือรับรู้ผ่านผลงานศิลปะ ประกอบด้วย เอกภาพ ดุลยภาพ และจุดเด่น
   
1.   เอกภาพหมายถึงการนำองค์ประกอบของศิลปะมาจัดเข้าด้วยกันให้แต่ละหน่วยมีความสัมพันธ์ เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน
 ประสานกลมกลืนเกิดเป็นผลรวมที่แบ่งแยกไม่ได้ โดยถ่ายทอดเป็นผลงานศิลปะด้วยกระบวนการศิลปะ


2.   ดุลยภาพ คือการนำองค์ประกอบของศิลปะมาจัดเข้าด้วยกันให้เกิดความเท่ากันหรือสมดุล โดยมีเส้นแกนสมมุติ 2 เส้น
เป็นตัวกำหนดดุลยภาพเส้นแกนสมมุติจะทำหน้าที่แบ่งภาพออกเป็นด้านซ้านและด้านขวา หรือด้านบนและด้านล่าง
เพื่อให้ผลงานศิลปะที่ปรากฏเกิดความสมดุลในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่นแบบซ้ายขวาเหมือนกันและแบบซ้าย ขวา ไม่
เหมือนกัน
3.   จุดเด่น คือ ส่วนที่สำคัญในภาพ มีความชัดเจนสะดุดตาเป็นแห่งแรก รับรู้ได้ด้วยการมองผลงานที่สำเร็จแล้ว
จุดเด่นจะมีลักษณะการมีอำนาจ ตระหง่าน ชัดเจนกว่าส่วนอื่นทั้งหมด โดยเกิดจากการเน้นให้เด่นในลักษณะใดลักษณะนึ่ง
เช่น จุดเด่นที่มีความเด่นชัด หรือจุดเด่นที่แยกตัวออกไปให้เด่น 
คือ ร่องรอยที่เกิดจากเคลื่อนที่ของจุด หรือถ้าเรานำจุดมาวางเรียงต่อ ๆ กันไป ก็จะเกิดเป็นเส้นขึ้น
เส้นมีมิติเดียว คือ ความยาว ไม่มีความกว้าง ทำหน้าที่เป็นขอบเขต ของที่ว่าง รูปร่าง รูปทรง
น้ำหนัก สี ตลอดจนกลุ่มรูปทรงต่าง ๆ รวมทั้งเป็นแกนหรือ โครงสร้างของรูปร่างรูปทรง
เส้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญของงานศิลปะทุกชนิด เส้นสามารถให้ความหมาย แสดง ความรู้สึก และอารมณ์ได้ด้วยตัวเอง
และด้วยการสร้างเป็นรูปทรงต่าง ๆ ขึ้น เส้นมี 2 ลักษณะคือ เส้นตรง (Straight Line) และ เส้นโค้ง (Curve Line)
เส้นทั้งสองชนิดนี้ เมื่อนำมาจัดวางในลักษณะต่าง ๆ กัน จะมีชื่อเรียกต่าง ๆ
และให้ความหมาย ความรู้สึก ที่แตกต่างกันอีกด้วย
 
 
ลักษณะของเส้น
1. เส้นตั้ง หรือ เส้นดิ่ง ให้ความรู้สึกทางความสูง สง่า มั่นคง แข็งแรง หนักแน่น เป็นสัญลักษณ์ของความซื่อตรง
2. เส้นนอน ให้ความรู้สึกทางความกว้าง สงบ ราบเรียบ นิ่ง ผ่อนคลาย
3. เส้นเฉียง หรือ เส้นทะแยงมุม ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหว รวดเร็ว ไม่มั่นคง
4. เส้นหยัก หรือ เส้นซิกแซก แบบฟันปลา ให้ความรู้สึก คลื่อนไหว อย่างเป็น จังหวะ มีระเบียบ ไม่ราบเรียบ น่ากลัว
 อันตราย ขัดแย้ง ความรุนแรง
5. เส้นโค้ง แบบคลื่น ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ ลื่นไหล ต่อเนื่อง สุภาพ อ่อนโยน นุ่มนวล
6. เส้นโค้งแบบก้นหอย ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว คลี่คลาย หรือเติบโตในทิศทางที่ หมุนวนออกมา
ถ้ามองเข้าไปจะเห็นพลังความเคลื่อนไหวที่ไม่สิ้นสุด
7. เส้นโค้งวงแคบ ให้ความรู้สึกถึงพลังความเคลื่อนไหวที่รุนแรง การเปลี่ยนทิศทาง ที่รวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง
8. เส้นประ ให้ความรู้สึกที่ไม่ต่อเนื่อง ขาด หาย ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความเครียด
ความสำคัญของเส้น 
    1. ใช้ในการแบ่งที่ว่างออกเป็นส่วน ๆ 
    2. กำหนดขอบเขตของที่ว่าง หมายถึง  ทำให้เกิดเป็นรูปร่าง (Shape) ขึ้นมา 
    3. กำหนดเส้นรอบนอกของรูปทรง ทำให้มองเห็นรูปทรง (Form) ชัดขึ้น 
    4. ทำหน้าที่เป็นน้ำหนักอ่อนแก่ ของแสดงและเงา หมายถึง การแรเงาด้วยเส้น 
    5. ให้ความรู้สึกด้วยการเป็นแกนหรือโครงสร้างของรูป และโครงสร้างของภาพ
 
          สีน้ำ   WATER COLOUR 
     สีน้ำ เป็น สีที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ ทั้งในแถบยุโรป และเอเชีย โดยเฉพาะจีน และญี่ปุ่น ซึ่งมีความสามารถในการระบาย
สีน้ำ แต่ในอดีตการระบายสีน้ำมักใช้เพียงสีเดียว คือ สีดำ    ผู้ที่จะระบายได้อย่างสวยงามจะต้องมีทักษะการใช้พู่กันที่สูง
การระบายสีน้ำจะใช้น้ำ เป็นส่วนผสม และทำละลายให้เจือจาง ในการใช้สีน้ำ ไม่นิยมใช้สีขาวผสมเพื่อให้มีน้ำหนักอ่อนลง
และไม่นิยมใช้สีดำผสมให้มีน้ำหนักเข้มขึ้น        เพราะจะทำให้เกิดน้ำหนักมืดเกินไป แต่จะใช้สีกลางหรือสีตรงข้าม
ผสมแทน ลักษณะของภาพวาดสีน้ำ  จะมีลักษณะใส  บาง และ สะอาด การระบายสีน้ำต้องใช้ความชำนาญสูง
เพราะผิดพลาดแล้วจะแก้ไขยากจะระบายซ้ำ ๆ ทับกันมาก ๆ ไม่ได้จะทำให้ภาพออกมามีสีขุ่น ๆ ไม่น่าดู หรือที่เรียกว่า สีเน่า
สีน้ำที่มีจำหน่าย ในปัจจุบัน จะบรรจุในหลอด เป็นเนื้อสีฝุ่นที่ผสมกับกาวอะราบิค ซึ่งเป็นกาวที่สามารถละลายน้ำได้ มีทั้ง
ลักษณะที่โปร่งแสง ( Transparent ) และกึ่งทึบแสง ( Semi-Opaque )  ซึ่งจะมีระบุ ไว้ข้างหลอด  สีน้ำนิยมระบาย
บนกระดาษที่มีผิวขรุขระ หยาบ
         
           สีโปสเตอร์   POSTER  COLOUR 
     สีโปสเตอร์  เป็นสีชนิดสีฝุ่น (Tempera) ที่ผสมกาวน้ำบรรจุเสร็จเป็นขวด  การใช้งานเหมือน กับสีน้ำ คือใช้น้ำเป็นตัว
ผสมให้เจือจาง  สีโปสเตอร์เป็นสีทึบแสง มีเนื้อสีข้น สามารถระบายให้มี เนื้อเรียบได้  และผสมสีขาวให้มีน้ำหนักอ่อนลงได้
เหมือนกับสีน้ำมัน  หรือสีอะครีลิค สามารถ ระบายสีทับกันได้  มักใช้ในการวาดภาพ  ภาพประกอบเรื่อง ในงานออกแบบ
ต่าง ๆ  ได้สะดวก ในขวดสีโปสเตอร์มีส่วนผสมของกลีเซอรีน จะทำให้แห้งเร็ว
          สีชอล์ค  PASTEL 
     สีชอล์ค  เป็นสีฝุ่นผงละเอียดบริสุทธิ์นำมาอัดเป็นแท่ง ใช้ในการวาดภาพ มากว่า 250 ปีแล้ว ปัจจุบัน มีการผสมขี้ผึ้ง
หรือกาวยางไม้เข้าไปด้วยแล้วอัดเป็นแท่งในลักษณะของดินสอสี  แต่มีเนื้อ ละเอียดกว่า  แท่งใหญ่กว่า และมีราคาแพงกว่า
มาก มักใช้ในการวาดภาพเหมือน
          สีฝุ่น  TEMPERA 
     สีฝุ่น เป็นสีเริ่มแรกของมนุษย์ ได้มาจากธรรมชาติ ดิน หิน แร่ธาตุ พืช  สัตว์ นำมาทำให้ละเอียด เป็นผง ผสมกาวและน้ำ
 กาวทำมาจากหนังสัตว์ กระดูกสัตว์ สำหรับช่างจิตรกรรมไทยใช้  ยางมะขวิด หรือกาวกระถิน ซึ่งเป็นตัวช่วยให้สีเกาะติดพื้น
ผิวหน้าวัตถุไม่หลุดได้โดยง่าย  ในยุโรปนิยมเขียนสีฝุ่น โดยผสมกับกาวยาง กาวน้ำ หรือไข่ขาว สีฝุ่นเป็นสีที่มีลักษณะ
ทึบแสง มีเนื้อสีค่อนข้างหนา  เขียนสีทับกันได้ สีฝุ่นมักใช้ในการเขียนภาพทั่วไป โดยเฉพาะภาพฝาผนัง ในสมัยหนึ่งนิยม
เขียนภาพผาฝนัง ที่เรียกว่า สีปูนเปียก (Fresco) โดยใช้สีฝุ่นเขียนในขณะที่ปูนที่ฉาบผนังยังไม่แห้งดี  เนื้อสีจะซึมเข้าไป
ในเนื้อปูนทำให้ภาพไม่หลุดลอกง่าย สีฝุ่นในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นผง เมื่อใช้งานนำมาผสมกับน้ำโดย ไม่ต้องผสมกาว
เนื่องจากในกระบวนการผลิตได้ทำการผสมมาแล้ว  การใช้งานหมือนกับสีโปสเตอร์
         ดินสอสี  CRAYON
     ดินสอสี   เป็นสีผงละเอียด ผสมกับขี้ผึ้งหรือไขสัตว์  นำมาอัดให้เป็นแท่งอยู่ในลักษณะของดินสอ เพื่อให้เหมาะสำหรับ
เด็ก ๆ ใช้งาน มีลักษณะคล้ายกับสีชอล์ค แต่เป็นสีที่มีราคาถูก  เนื่องจากมีส่วนผสม อื่น ๆ ปะปนอยู่มาก มีเนื้อสีน้อยกว่า
ปัจจุบันมีการพัฒนาให้สามารถละลายน้ำ หรือน้ำมันได้  โดยเมื่อใช้ ดินสอสีระบายสีแล้วนำพู่กันจุ่มน้ำมาระบายต่อ
ทำให้มีลักษณะคล้ายกับภาพสีน้ำ ( Aquarelle ) บางชนิด สามารถละลายได้ในน้ำมัน ซึ่งทำให้กันน้ำได้
 
          
     สีเทียน   OIL PASTEL 
     สีเทียนหรือสีเทียนน้ำมัน เป็นสีฝุ่นผงละเอียด ผสมกับไขมันสัตว์หรือขี้ผึ้ง แล้วนำมาอัดเป็นแท่ง มีลักษณะทึบแสง
สามารถเขียนทับกันได้  การใช้สีอ่อนทับสีเข้มจะมองเห็นพื้นสีเดิมอยู่บ้าง  การผสมสี อื่น ๆใช้การเขียนทับกัน สีเทียนน้ำมัน
มักไม่เกาะติดพื้น สามารถขูดสีออกได้ และกันน้ำ   ถ้าต้องการให้ สีติดแน่นทนนาน จะมีสารพ่นเคลือบผิวหน้าสี 
สีเทียนหรือสีเทียนน้ำมัน มักใช้เป็นสีฝึกหัดสำหรับเด็ก เนื่องจากใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน และมีราคาถูก

          สีอะครีลิค  ACRYLIC  COLOUR
     สีอะครีลิค  เป็นสีที่มีส่วนผสมของสารพลาสติกโพลีเมอร์ ( Polymer) จำพวก อะครีลิค ( Acrylic ) หรือ ไวนิล ( Vinyl )
 เป็นสีที่มีการผลิตขึ้นมาใหม่ล่าสุด วลาจะใช้นำมาผสมกับน้ำ  ใช้งานได้เหมือนกับสีน้ำ และสีน้ำมัน มีทั้งแบบโปร่งแสง
และทึบแสง แต่จะแห้งเร็วกว่าสีน้ำมัน 1 - 6 ชั่วโมง  เมื่อแห้งแล้วจะมี คุณสมบัติกันน้ำได้และเป็นสีที่ติดแน่นทนนาน 
คงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ สามารถเก็บไว้ได้นาน ๆ ยึดเกาะติดผิวหน้าวัตถุได้ดี เมื่อระบายสีแล้วอาจใช้น้ำยาวานิช 
( Vanish ) เคลือบผิวหน้าเพื่อป้องกัน การขูดขีด เพื่อให้คงทนมากยิ่งขึ้น  สีอะครีลิคที่ใช้วาดภาพบรรจุในหลอด 
มีราคาค่อนข้างแพง
        
          สีน้ำมัน  OIL  COLOUR
     สีน้ำมัน ผลิตจากการผสมของสีฝุ่นกับน้ำมัน ซึ่งเป็นน้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันลินสีด ( Linseed ) ซึ่งกลั่นมาจาก
ต้นแฟลกซ์  หรือน้ำมันจากเมล็ดป๊อบปี้        สีน้ำมันเป็นสีทึบแสง เวลาระบายมักใช้สีขาวผสมให้ได้น้ำหนักอ่อนแก่ 
งานวาดภาพสีน้ำมัน มักเขียนลงบนผ้าใบ  (Canvas )  มีความคงทนมากและกันน้ำ ศิลปินรู้จักใช้สีน้ำมันวาดภาพ
มาหลายร้อยปีแล้ว  การวาดภาพสีน้ำมัน อาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือ เป็นปีก็ได้ เนื่องจากสีน้ำมันแห้งช้ามาก ทำให้ไม่ต้องรีบ
ร้อน สามารถวาดภาพสีน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ ๆ และสามารถแก้ไขงาน ด้วยการเขียนทับงานเดิม  สีน้ำมันสำหรับเขียนภาพจะ
บรรจุในหลอด  ซึ่งมีราคาสูงต่ำขึ้นอยู่กับคุณภาพ  การใช้งานจะผสมด้วยน้ำมันลินสีด  ซึ่งจะทำให้เหนียวและเป็นมัน   
แต่ถ้าใช้ น้ำมันสน จะทำให้แห้งเร็วขึ้นและสีด้าน พู่กันที่ใช้ระบายสีน้ำมันเป็นพู่กันแบนที่มีขนแข็งๆ สีน้ำมัน เป็นสีที่ศิลปิน
ส่วนใหญ่นิยมใช้วาดภาพ มาตั้งแต่สมัยเรอเนซองส์ยุคปลาย


ความเป็นมาของสี 
สีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต 
ซึ่งมนุษย์รู้จัก สามารถ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่ สมัยดึกดำบรรพ์ ในอดีตกาล
          มนุษย์ได้ค้นพบสีจากแหล่งต่าง ๆ  จากพืช  สัตว์  ดิน และแร่ธาตุนานาชนิด จากการค้นพบสีต่าง ๆ เหล่านั้น
มนุษย์ได้นำเอาสีต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางโดยนำมาระบายลงไปบนสิ่งของ ภาชนะเครื่องใช้ หรือระบายลงไป
บนรูปปั้น รูปแกะสลัก เพื่อให้รูปเด่นชัดขึ้น มีความเหมือนจริงมากขึ้น รวมไปถึงการใช้สีวาด ลงไปบนผนังถ้ำ  หน้าผา 
ก้อนหิน  เพื่อใช้ถ่ายทอดเรื่องราว และทำให้เกิดความรู้สึกถึงพลังอำนาจที่มีอยู่เหนือสิ่งต่าง ๆ  ทั้งปวงการใช้สีทาตาม
ร่างกายเพื่อ กระตุ้นให้เกิดความฮึกเหิม เกิดพลังอำนาจ   หรือใช้สีเป็นสัญลักษณ์ในการถ่ายทอด ความหมายอย่างใด
อย่างหนึ่งในสมัยเริ่มแรก มนุษย์รู้จักใช้สีเพียงไม่กี่สี  สีเหล่านั้นได้มาจากพืช สัตว์ ดิน แร่ธาตุต่าง ๆ รวมถึงขี้เถ้า
เขม่าควันไฟ เป็นสีที่พบทั่วไปในธรรมชาติ นำมาถู  ทา ต่อมาเมื่อทำการย่างเนื้อสัตว์ ไขมัน น้ำมัน ที่หยดจากการย่างลง
สู่ดินทำให้ดินมี สีสันน่าสนใจ สามารถนำมาระบายลงบนวัตถุและติดแน่นทนนาน ดังนั้นไขมันนี้ จึงได้ทำหน้าที่เป็น
ส่วนผสม (binder) ซึ่งมีความสำคัญในฐานะเป็นสารชนิดหนึ่ง ที่เป็นส่วนประกอบของสี  ทำหน้าที่เกาะติดผิวหน้าของวัสดุที่
ถูกนำไปทาหรือ ระบาย นอกจากไขมันแล้วยังได้นำไข่ขาว  ขี้ผึ้ง (Wax) น้ำมันลินสีด (Linseed)
กาวและยางไม้  (Gum arabic)  เคซีน (Casein: ตะกอนโปรตีนจากนม)  และสารพลาสติกโพลีเมอร์  (Polymer) 
มาใช้เป็นส่วนผสม ทำให้เกิดสีชนิดต่าง ๆ ขึ้นมา

องค์ประกอบของสี แสดงได้ดังนี้
                                  เนื้อสี (รงควัตถุ)      +     ส่วนผสม    =    สีชนิดต่าง ๆ
                                        
         ในสมัยต่อมา เมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการมากขึ้น เกิดคตินิยมในการรับรู้ และชื่นชมใน ความงามทางสุนทรียศาสตร์
  (Aesthetics) สีได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง   และวิจิตรพิสดารจากเดิมที่เคยใช้สีเพียงไม่กี่สี ซึ่งเป็นสีตามธรรมชาติ 
 ได้นำมาซึ่งการประดิษฐ์ คิดค้น และผลิตสีใหม่ ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ความงามอย่างไม่มีขีด
จำกัด โดยมี การพัฒนามาเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง

ที่มาของสี
       สีที่มนุษย์ใช้อยู่ทั่วไป ได้มาจาก
      1  สสารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และนำมาใช้โดยตรง หรือด้วยการสกัด  ดัดแปลงบ้าง จากพืช
สัตว์  ดิน แร่ธาตุต่าง ๆ
      2  สสารที่ได้จากการสังเคราะห์ซึ่งผลิตขึ้นโดยกระบวนการทางเคมี เป็นสารเคมีที่ผลิตขึ้น
เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้ สะดวกมากขึ้น ซึ่งเป็นสีที่เราใช้อยู่ทั่วไปในปัจจุบัน
      3  แสง เป็นพลังงานชนิดเดียวที่ให้สี โดยอยู่ในรูปของรังสี (Ray) ที่มีความเข้มของแสง
อยู่ในช่วงที่สายตามองเห็นได้





 
 

               สี คือลักษณะของแสงที่ปรากฏแก่สายตาให้เห็นเป็นสี (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)
ในทางวิทยาศาสตร์ให้คำจำกัดความของสีว่า เป็นคลื่นแสงหรือความเข้มของแสงที่สายตาสามารถมองเห็น
ในทางศิลปะ  สีคือ ทัศนธาตุอย่างหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของงานศิลปะ และใช้ในการสร้างงานศิลปะ
โดยจะทำให้ผลงานมีความสวยงาม  ช่วยสร้างบรรยากาศ มีความสมจริง เด่นชัดและน่าสนใจมากขึ้น
          สีเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของงานศิลปะ และเป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึก อารมณ์ และจิตใจ
 ได้มากกว่าองค์ประกอบอื่น ๆ ในชีวิตของมนุษย์มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสีต่าง ๆ อย่างแยกไม่ออก โดยที่สีจะให้
ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น 
       1 ใช้ในการจำแนกสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เห็นชัดเจน
       2 ใช้ในการจัดองค์ประกอบของสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสวยงาม กลมกลืน เช่น การแต่งกาย  การจัดตกแต่งบ้าน
       3 ใช้ในการจัดกลุ่ม พวก คณะ ด้วยการใช้สีต่าง ๆ เช่น คณะสี  เครื่องแบบต่าง ๆ
       4 ใช้ในการสื่อความหมาย เป็นสัญลักษณ์ หรือใช้บอกเล่าเรื่องราว
       5 ใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อให้เกิดความสวยงาม สร้างบรรยากาศ  สมจริงและน่าสนใจ
       6 เป็นองค์ประกอบในการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ของมนุษย์
 
การใช้สีในยุคสมัยต่าง ๆ
     อียิปต์โบราณ
          ในสมัยอียิปต์โบราณ   การใช้สีมีความสัมพันธ์กับพิธีกรรม   และเรื่องราวที่เกี่ยวกับศาสนา การระบายสีไม่เกี่ยว
กับความเป็นจริงทางทัศนียวิทยา หรือหลักความเป็นจริง เป็นภาพที่ไม่มีแสงเงา เป็นรูปแบนระบายสีที่สว่างสดใส
มองเห็นชัดเจน โดยใช้เทคนิคสีฝุ่นผสมไข่ขาว (egg tempera) หรือใช้ไข่ขาวเคลือบบนผิวที่เขียนด้วยสีฝุ่นผสมน้ำ
     กรีกโบราณ
          ผลงานในสมัยกรีกโบราณ  ที่เห็นชัดเจนจะได้แก่งานประติมากรรมและสถาปัตยกรรม จะพบเห็นงานจิตรกรรม
ค่อนข้างน้อย ไม่ค่อยปรากฏงานจิตรกรรมฝาผนัง แต่จะพบในงานวาดภาพระบายสี ตกแต่งเครื่องปั้นดินเผา
จะนิยมใช้สีเพียง 2 - 3 สี คือ ขาว เหลือง แดง และเคลือบดำ 
     โรมันโบราณ
          นิยมสร้างภาพบนผนังและพื้นห้องประดับด้วยโมเสค (Mosaic)  สำหรับการวาดภาพใช้เทคนิค ผสมไข
 (Encaustic painting) ซึ่งเป็นการใช้สีผสมกับไขระบายในขณะที่ยังร้อน ๆ จากการค้นพบ หลักฐานผลงานในสมัยโรมัน
หลาย ๆ แห่ง นิยมสร้างเป็นภาพในเมือง ชนบท ภูเขา  ทะเล การต่อสู้  กิจกรรมของพลเมือง การค้าขาย  กีฬา
เรื่องเกี่ยวกับนินายปรัมปรา และประวัติศาสตร์
     คริสเตียนยุคแรก
         ในยุคไบเซนไทน์ (Bizentine) ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของคริสเตียนนิยมสร้างภาพโดยใช้โมเสค กระจก( Glass  Mosaic)
 ทำเป็นภาพบุคคลสำคัญในพระคัมภีร์ไบเบิล ประดับตกแต่งภายในโบสถ์์ โดยมากมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงถึงความศรัทธา
อย่างสูงต่อศาสนาคริสต์

     การใช้สีในจิตรกรรมไทย 
          จิตรกรรมไทย เป็นงานวิจิตรศิลป์ที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ  สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม อันดีงาม
ของชาติ  มีคุณค่าทางศิลปะและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และโบราณคดี
   จิตรกรรมไทยแบ่งออกได้  2  ประเภท  คือ
          1 จิตรกรรมไทยแบบประเพณี (Thai Traditional painting) เป็นงานจิตรกรรมที่แสดงความรู้สึกชีวิตจิตใจ
และความเป็นไทย ที่มีความละเอียด  อ่อนช้อยงดงาม สร้างสรรค์สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต  และสังเคราะห์จนได้
   ลักษณะประจำชาติ ที่มีรูปแบบเป็นพิเศษเฉพาะตัว เป็นงานศิลปะในแบบอุดมคติ  (Idialistic Art) นิยมเขียน เป็นภาพ
ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวต่าง ๆ คือ             1.1   พุทธประวัติ และเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธ
            1.2   พงศาวดาร  ตำนาน เรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์  เรื่องคตินิยมอันเป็นมงคล
            1.3   วิถีชีวิต  ความเป็นอยู่  ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่าง ๆ

   ลักษณะของผลงานเป็นภาพจิตรกรรม  ระบายสีแบนเรียบด้วยสีที่ค่อนข้างสดใส แล้วตัดเส้นมีขอบที่คมชัด ให้ความรู้สึก
เป็นภาพ  2  มิติ  มีลักษณะในการจัดวางภาพแบบเล่าเรื่องเป็นตอน ๆ  จากบนลงล่าง มีวิธีการใช้สีแตกต่างกันออกไปตาม
ยุคสมัย ทั้งสีเอกรงค์ และพหุรงค์
          2 จิตรกรรมไทยร่วมสมัย (Thai  Contemporary painting) เป็นงานจิตรกรรมที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมใหม่
แนวความคิดใหม่ ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน      เป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะตะวันตกที่นำมาผสมผสาน
กับรูปลักษณ์แบบไทย ๆ แล้วสร้างสรรค์เป็นรูปแบบใหม่ขึ้น
   สีที่ช่างนำมาใช้ในงานจิตรกรรมแต่เดิมนั้นมีน้อยมาก  มักใช้สีเดียว ที่เรียกว่า  "เอกรงค์" โดยใช้สีขาว สีดำและสีแดง
เท่านั้น  ทำให้เกิดความกลมกลืนกันมาก ต่อมาสีที่ใช้ในภาพจิตรกรรมก็มีมากขึ้น มีการเขียนภาพ ที่เรียกว่า"เบญจรงค์"
คือใช้สี  5  สี  ได้แก่ สีเหลือง  เขียวหรือคราม  แดงชาด  ขาว  และดำ การวาดภาพที่ใช้ หลาย ๆ สี เรียกว่า "พหุรงค์" 
สีที่ใช้ล้วนได้มาจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่  และมีที่กำเนิดต่าง ๆ กัน  บางสีเป็น ธาตุจากดิน  บางสีได้จากสัตว์ จากกระดูก
เขา งา  เลือด  บางสีได้จากพืช  ลักษณะของสีที่นำมาใช้มักจะทำเป็น ผงละเอียด ซึ่งเรียกว่า สีฝุ่น ( Tempera)
นำมาผสมกับวัสดุอื่นเพื่อให้ยึดเกาะผิวหน้าวัตถุได้ดี  ได้แก่ กาวหรือ ยางไม้  ที่นิยมใช้คือ ยางของต้นมะขวิด และ
กาวกระถิน  ลักษณะเด่นของจิตรกรรมไทยอีกอย่างหนึ่งคือ การปิด ทองคำเปลวในบางส่วนของภาพที่มีความสำคัญ
เช่น  เป็นเครื่องทรงหรือเป็นผิวกายของของบุคคลสำคัญในเรื่อง  เป็นส่วนประกอบของปราสาทราชวัง 
หรือสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ๆ ในภาพ  เป็นต้น


 
ความรู้สึกเกี่ยวกับสีในเชิงจิตวิทยา               
 สีแดง   ให้ความรู้สึกร้อน  รุนแรง กระตุ้น ท้าทาย  เคลื่อนไหว  ตื่นเต้น เร้าใจ  มีพลัง ความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง 
            ความรัก ความสำคัญ  อันตราย
 สีส้ม     ให้ความรู้สึก ร้อน  ความอบอุ่น ความสดใส  มีชีวิตชีวา  วัยรุ่น  ความคึกคะนอง การปลดปล่อย  ความเปรี้ยว 
            การระวัง 
 สีเหลือง ให้ความรู้สึกแจ่มใส  ความสดใส  ความร่าเริง  ความเบิกบานสดชื่น ชีวิตใหม่  ความสด  ใหม่  ความสุกสว่าง 
            การแผ่กระจาย  อำนาจบารมี 
 สีเขียว  ให้ความรู้สึก สงบ  เงียบ  ร่มรื่น  ร่มเย็น  การพักผ่อน  การผ่อนคลาย ธรรมชาติ  ความปลอดภัย  ปกติ 
            ความสุข  ความสุขุม  เยือกเย็น 
 สีน้ำเงิน  ให้ความรู้สึกสงบ  สุขุม  สุภาพ  หนักแน่น  เคร่งขรึม  เอาการเอางาน ละเอียด  รอบคอบ  สง่างาม  มีศักดิ์ศรี 
             สูงศักดิ์  เป็นระเบียบถ่อมตน 
 สีม่วง     ให้ความรู้สึก มีเสน่ห์  น่าติดตาม  เร้นลับ  ซ่อนเร้น  มีอำนาจ  มีพลังแฝงอยู่ ความรัก  ความเศร้า  ความผิดหวัง 
             ความสงบ  ความสูงศักดิ์ 
 สีฟ้า      ให้ความรู้สึก ปลอดโปร่งโล่ง  กว้าง  เบา  โปร่งใส สะอาด ปลอดภัย  ความสว่าง ลมหายใจ ความเป็นอิสระ 
             เสรีภาพ การช่วยเหลือ แบ่งปัน
 สีขาว      ให้ความรู้สึก บริสุทธิ์  สะอาด สดใส เบาบาง อ่อนโยน  เปิดเผย การเกิด  ความรัก ความหวัง  ความจริง 
             ความเมตตา ความศรัทธา  ความดีงาม 
 สีดำ       ให้ความรู้สึก มืด สกปรก ลึกลับ  ความสิ้นหวัง  จุดจบ ความตาย ความชั่ว ความลับ ทารุณ โหดร้าย
              ความเศร้า หนักแน่น เข้มเข็ง อดทน มีพลัง 
 สีชมพู    ให้ความรู้สึก อบอุ่น  อ่อนโยน  นุ่มนวล  อ่อนหวาน  ความรัก  เอาใจใส่  วัยรุ่น หนุ่มสาว  ความน่ารัก
              ความสดใส 
 สีเทา       ให้ความรู้สึก เศร้า  อาลัย  ท้อแท้   ความลึกลับ  ความหดหู่  ความชรา  ความสงบ ความเงียบ  สุภาพ 
               สุขุม  ถ่อมตน 
 สีทอง      ให้ความรู้สึก ความหรูหรา  โอ่อ่า  มีราคา  สูงค่า  สิ่งสำคัญ  ความเจริญรุ่งเรือง ความสุข  ความมั่งคั่ง 
               ความร่ำรวย  การแผ่กระจาย  
 
การใช้สีในเชิงสัญลักษณ์



     สีแดง
          มีความอบอุ่น ร้อนแรง เปรียบดังดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังแสดงถึงความมีชีวิตชีวา ความรัก 
ความปรารถนา เช่นดอกกุหลาบแดงวันวาเลนไทน์  ในทางจราจรสีแดงเป็นเครื่องหมายประเภทห้าม แสดงถึง
สิ่งที่อันตราย เป็นสีที่ต้องระวัง  เป็นสีของเลือด ในสมัยโรมัน สีของราชวงศ์เป็นสีแดง แสดงความมั่งคั่ง
อุดมสมบูรณ์และอำนาจ
 
     สีเขียว 
          แสดงถึงธรรมชาติสีเขียว ร่มเย็น มักใช้สื่อความหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
การเกษตร   การเพาะปลูกการเกิดใหม่ ฤดูใบไม้ผลิ การงอกงาม ในเครื่องหมายจราจร หมายถึงความปลอดภัย 
ในขณะเดียวกัน อาจหมายถึงอันตราย ยาพิษ เนื่องจากยาพิษ  และสัตว์มีพิษ ก็มักจะมีสีเขียวเช่นกัน
 
     สีเหลือง
          แสดงถึงความสดใส  ความเบิกบาน โดยเรามักจะใช้ดอกไม้สีเหลือง ในการไปเยี่ยมผู้ป่วย และแสดงความรุ่งเรือง
ความมั่งคั่ง และฐานันดรศักดิ์ ในทางตะวันออกเป็นสีของกษัตริย์  จักรพรรดิ์ของจีนใช้ฉลอง พระองค์สีเหลือง 
ในทางศาสนาแสดงความเจิดจ้า ปัญญา พุทธศาสนา และยังหมายถึงการเจ็บป่วย  โรคระบาด ความริษยา
ทรยศ  หลอกลวง
 
     สีน้ำเงิน
          แสดงถึงความเป็นสุภาพบุรุษ  มีความสุขุม หนักแน่น   และยังหมายถึงความสูงศักดิ์
ในธงชาติไทย สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ ในศาสนา คริตส์เป็นสีประจำตัวแม่พระ โดยทั่วไป สีน้ำเงินหมายถึงโลก 
ซึ่งเราจะ เรียกว่า โลกสีน้ำเงิน (Blue Planet)   เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ที่มองเห็น จากอวกาศโดยเห็นเป็นสีน้ำเงินสดใส
 เนื่องจากมีพื้นน้ำที่กว้างใหญ่

     สีม่วง
          แสดงถึงพลัง  ความมีอำนาจ ในสมัยอียิปต์สีม่วงแดงเป็นสีของกษัติรย์ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยโรมัน 
นอกจากนี้  สีม่วงแดงยังเป็นสีชุดของพระสังฆราช  สีม่วงเป็นสีที่มีพลังหรือการมีพลังแอบแฝงอยู่ และเป็นสีแห่ง
ความผูกพัน องค์การลูกเสือโลกก็ใช้สีม่วง ส่วนสีม่วงอ่อนมักหมายถึง ความเศร้า ความผิดหวังจากความรัก

     สีฟ้า
          แสดงถึงความสว่าง ความปลอดโปร่ง เปรียบเหมือนท้องฟ้า เป็นอิสระ เสรี เป็นสีขององค์การสหประชาชาติ
เป็นสีของความสะอาด ปลอดภัย สีขององค์การอาหารและยา (อย.) แสดงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
การ ใช้พลังงานอย่างสะอาด แสดงถึงอิสรภาพ ที่สามารถโบยบินเป็นสีแห่ง ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ
ที่ไม่มีขอบเขต
 
     สีทอง
          มักใช้แสดงถึง   คุณค่า  ราคา  สิ่งของหายาก  ความสำคัญ  ความสูงส่ง สูงศักดิ์   ความศรัทธาสูงสุดในศาสนา
พุทธ หรือ เป็นสีกายของพระพุทธรูป  ในงานจิตรกรรมเป็นสีกายของพระพุทธเจ้า พระมหากษัติรย์ หรือเป็นส่วนประกอบ
ของเครื่องทรง  เจดีย์ต่าง ๆ มักเป็นสีทอง  หรือ ขาว และเป็นเครื่องประกอบยศศักดิ์ ของกษัตริย์และขุนนาง

     สีขาว
          แสดงถึงความสะอาด  บริสุทธิ์ เหมือเด็กแรกเกิด  แสดงถึงความว่างเปล่า ปราศจากกิเลส ตัณหา
เป็นสีอาภรณ์ของผู้ทรงศีล ความเชื่อถือ ความดีงาม ความศรัทธา และหมายถึงการเกิดโดยที่แสงสีขาว เป็นที่กำเนิด
ของแสงสี ต่าง ๆ เป็นความรักและความหวัง ความห่วงใยเอื้ออาทรและเสียสละของ พ่อแม่ ความอ่อนโยน  จริงใจ
บางกรณีอาจหมายถึง ความอ่อนแอ ยอมแพ้

     สีดำ
          แสดงถึงความมืด ความลึกลับ สิ้นหวัง ความตายเป็นที่สิ้นสุดของทุกสิ่ง โดยที่สีทุกสี เมื่ออยู่ในความมืด 
จะเห็นเป็นสีดำ  นอกจากนี้ยังหมายถึงความชั่วร้าย ในคริสต์ศาสนาหมายถึง ซาตาน อาถรรพ์เวทมนต์ มนต์ดำ ไสยศาสตร์
ความชิงชัง ความโหดร้าย  ทำลายล้าง  ความลุ่มหลงเมามัว แต่ยังหมายถึงความอดทน กล้าหาญ เข้มแข็ง
และเสียสละได้ด้วย
     สีชมพู
          แสดงถึงความอบอุ่น อ่อนโยน ความอ่อนหวาน นุ่มนวล  ความน่ารัก แสดงถึงความรักของมนุษย์
โดยเฉพาะรุ่นหนุ่มสาว  เป็นสีของความ เอื้ออาทร  ปลอบประโลม  เอาใจใส่ดูแล  ความปรารถนาดี  และอาจ หมายถึง
ความเป็นมิตร  เป็นสีของวัยรุ่น   โดยเฉพาะผู้หญิง และนิยม ใช้กับสิ่งของเครื่องใช้ของเด็กวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ 
 
แสง เป็นพลังงานรังสี ( Radiation Energy )  ที่ตารับรู้และมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วย
กระบวนการ วิเคราะห์แยกแยะของสมอง  ตาสามารถวิเคราะห์พลังงานแสงโดย
การรับรู้วัตถุ สัมพันธ์กับตำแหน่ง ทิศทาง ระยะทาง ความเข้มของแสง
                                         และความยาวคลื่นที่มองเห็นได้

        สี    คือลักษณะความเข้มของแสงที่ปรากฏแก่สายตาให้เห็นเป็นสี  โดยผ่านกระบวนการรับรู้ด้วยตา

มองจะรับข้อมูลจากตา โดยที่ตาได้ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลพลังงานแสงมาแล้ว ผ่านประสาท
สัมผัสการมองเห็น ผ่านศูนย์สับเปลี่ยนในสมองไปสู่ศูนย์การมองเห็นภาพ  การสร้างภาพหรือการมองเห็นก็ คือ
การที่ข้อมูลได้ผ่านการวิเคราะห์แยกแยะให้เรารับรู้ถึงสรรพสิ่งรอบตัว

          การตรวจวัดคลื่นแสงเริ่มขึ้นใน คริสต์ศตวรรษที่ 19  ในปี 1928  ไรท์ ( W.D.Wright ) และ กิลด์ ( J.Guild )
ประสบความสำเร็จในการตรวจวัดคลื่นแสงครั้งสำคัญ และได้รับการรับรองจาก Commission Internationale de l
 'Eclairage  หรือ  CIE ในปี 1931 โดยถือว่าเป็นการตรวจวัดมาตรฐานสามเหลี่ยมสี  CIE  เป็นภาพแสดง รูปสามเหลี่ยม
เกือกม้า นำเสนอไว้ในปี 1931 โดยการวิเคราะห์สีจากแสงสเปคตรัม สัมพันธ์กับความยาวคลื่นแสง
แสดงถึงแสงสีขาวท่ามกลางแสงสเปคตรัมรอบรูปเกือกม้าโค้งรูปเกือกม้าแสดงความยาวคลื่นจาก 400- 700  mu
สามเหลี่ยมสี CIEสร้างขึ้นตามระบบความสัมพันธ์พิกัด X และ Y คาร์เตเชียน ในทางคณิตศาสตร์จากมุมตรงข้าม  3  มุม
ของรูปเกือกม้า คือสีน้ำเงินม่วงเข้มประมาณ 400 mu สีเขียวประมาณ  520 mu และสีแดงประมาณ 700 mu
คือสีจากแสง ที่จะนำมาผสมกันและก่อให้เกิดสีต่าง ๆ ขึ้น  แสงสีแดง มีความยาวคลื่นสูงสุด แต่มีความถี่คลื่นต่ำสุด จ
ะหักเหได้น้อยที่สุดและแสงสีม่วงจะมีความยาวคลื่นน้อยสุด แต่มีความถี่คลื่นสูงสุด และหักเหได้มากที่สุด
 
          โครงสร้างของสามเหลี่ยมสี CIE นี้ มิได้ขึ้นอยู่กับทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง แต่เกิดจากการทดลอง
ค้นคว้าทาง วิทยาศาสตร์   ระบบการพิมพ์อุตสาหกรรม   การถ่ายภาพ   ภาพยนตร์  โทรทัศน์ ได้ใช้โครงสร้างสีนี้
เป็นหลัก ในระบบการพิมพ์ได้ใช้สีจากด้าน  3  ด้านของรูปเกือกม้าคือ  สีเหลือง  ฟ้า   สีม่วงแดง  และสีดำเป็นหลัก
ส่วน ในการถ่ายภาพ  ภาพยนตร์ โทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ ใช้สีจากมุมทั้งสาม คือ แดง  เขียว น้ำเงิน เป็นหลัก
    
          ในราวปี ค.ศ. 1666  เซอร์  ไอแซค  นิวตันได้แสดงให้เห็นว่า สีคือส่วนหนึ่งในธรรมชาติของแสงอาทิตย์
โดยให้ลำแสงส่องผ่านแท่งแก้วปริซึม  แสงจะหักเห   เพราะแท่งแก้วปริซึมความหนาแน่นมากกว่าอากาศ
เมื่อลำแสงหักเหผ่านปริซึมจะปรากฏแถบสีสเปคตรัม ( Spectrum)  หรือที่เรียกว่า สีรุ้ง (Rainbow)
คือ สีม่วง คราม  น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง   เมื่อแสงตกกระทบโมเลกุลของสสาร  พลังงานบางส่วนจะดูดกลืนสี
จาก แสงบางส่วน และสะท้อนสีบางสีให้ปรากฏเห็นได้  พื้นผิววัตถุที่เราเห็นเป็นสีแดง  เพราะ  วัตถุดูดกลืนแสงสี อื่นไว้
 สะท้อนเฉพาะแสงสีแดงออกมา วัตถุสีขาวจะสะท้อนแสงสีทุกสี  และวัตถุสีดำ จะดูดกลืนทุกสี

      จากทฤษฎีการการหักเหของแสงของ ของนิวตัน และจากสามเหลี่ยมสี CIE พบว่า แสงสีเป็นพลังงานเพียง ชนิดเดียว
ที่ปรากฎสี  จากด้านทั้ง  3  ด้านของรูปสามเหลี่ยมสี CIE  นักวิทยาศาสตร์ได้กำหนดแม่สีของแสงไว้ 3 สี คือ สีแดง
( Red ) สีเขียว (Green)  และสีน้ำเงิน ( Blue )  แสงทั้งสามสี เมื่อนำมาฉายส่องรวมกัน จะทำให้เกิด สีต่าง ๆ ขึ้นมา คือ


                 แสงสีแดง        +    แสงสีเขียว        =   แสงสีเหลือง  ( Yellow )
                แสงสีแดง        +    แสงสีน้ำเงิน      =   แสงสีแดงมาเจนตา  ( Magenta)
                แสงสีน้ำเงิน   +     แสงสีเขียว        =   แสงสีฟ้าไซแอน  ( Cyan )
 
     และถ้าแสงสีทั้งสามสีฉายรวมกัน  จะได้แสงสีขาว  หรือ ไม่มีสี  เราสามารถสังเกตแม่สีของแสง ได้จากโทรทัศน์สี หรือ
จอคอมพิวเตอร์สี  โดยใช้แว่นขยายส่องดูหน้าจอจะเห็นเป็นแถบสีแสงสว่าง 3  สี  คือ แดง เขียว และน้ำเงิน 
นอกจากนี้เราจะสังเกตเห็นว่า   เครื่องหมายของสถานีโทรทัศน์สี  หลาย ๆ ช่อง   จะใช้แม่สีของแสง ด้วยเช่นกัน  ทฤษฎี
ของแสงสีนี้ เป็นระบบสีที่เรียกว่า RGB  ( Red - Green - Blue ) เราสามารถนำไปใช้ในการ ถ่ายทำภาพยนตร์ 
บันทึกภาพวิดีโอ  การสร้างภาพ  เพื่อแสดงทางคอมพิวเตอร์  การจัดไฟแสงสีในการแสดง การจัดฉากเวที เป็นต้น
 
           แสงสีที่เป็นแม่สี คือ สีแดง น้ำเงิน เขียว จะเรียกว่า สีพื้นฐานบวก ( Additive primary colors ) คือ เกิดจาก
การหักเหของแสงสีขาว  ส่วนสีใหม่ที่เกิดจากการผสมกันของแม่สีของแสงทั้งสามสี จะเรียกว่า สีพื้นฐานลบ
(Subtractive primary colors ) คือ  สีฟ้าไซแอน (Cyan)  สีแดงมาเจนต้า  (Magenta) และสีเหลือง (Yellow) 
ทั้งสามสีเป็นแม่สีแม่ใช้ในระบบการพิมพ์ออฟเซท หรือที่เรียกว่า ระบบสี CMYK โดยที่มีสีดำ (Black) เพิ่มเข้ามา

 
 
ระบบสี  RGB  
          ระบบสี RGB  เป็นระบบสีของแสง ซึ่งเกิดจากการหักเหของแสงผ่านแท่งแก้วปริซึม จะเกิดแถบสีที่เรียกว่า สีรุ้ง
( Spectrum ) ซึ่งแยกสีตามที่สายตามองเห็นได้ 7 สี คือ แดง แสด เหลือง  เขียว  น้ำเงิน  คราม  ม่วง      
ซึ่งเป็นพลังงานอยู่ในรูปของรังสี ที่มีช่วงคลื่นที่สายตา สามารถมองเห็นได้ แสงสีม่วงมีความถี่คลื่นสูงที่สุด คลื่นแสงที่มี
ความถี่สูงกว่าแสงสีม่วง เรียกว่า อุลตราไวโอเลต  ( Ultra Violet ) และคลื่นแสงสีแดง มีความถี่คลื่นต่ำที่สุด คลื่นแสง
ที่ต่ำกว่าแสงสีแดงเรียกว่า อินฟราเรด ( InfraRed)   คลื่นแสงที่มีความถี่สูงกว่าสีม่วง และต่ำกว่าสีแดงนั้น สายตาของ
มนุษย์ไม่สามารถรับได้  และเมื่อศึกษาดูแล้วแสงสีทั้งหมดเกิดจาก แสงสี  3  สี คือ สีแดง ( Red )  สีน้ำเงิน ( Blue)
และสีเขียว ( Green )ทั้งสามสีถือเป็นแม่สีของแสง  เมื่อนำมาฉายรวมกันจะทำให้เกิดสีใหม่ อีก  3  สี คือ  สีแดงมาเจนต้า 
สีฟ้าไซแอน และสีเหลือง  และถ้าฉายแสงสีทั้งหมดรวมกันจะได้แสงสีขาว จากคุณสมบัติของแสงนี้เรา ได้นำมาใช้
ประโยชน์ทั่วไป  ในการฉายภาพยนตร์   การบันทึกภาพวิดีโอ    ภาพโทรทัศน์ การสร้างภาพเพื่อการนำเสนอทาง
จอคอมพิวเตอร์ และการจัดแสงสีในการแสดง เป็นต้น
 
ระบบสี CMYK
          เป็นระบบสีชนิดที่เป็นวัตถุ คือสีแดง  เหลือง น้ำเงิน แต่ไม่ใช่สีน้ำเงิน ที่เป็นแม่สีวัตถุธาตุ แม่สีในระบบ CMYK
เกิดจากการผสมกันของแม่สีของแสง หรือ ระบบสี RGB คือ
            
           แสงสีน้ำเงิน    +  แสงสีเขียว   =   สีฟ้า  (Cyan)
           แสงสีน้ำเงิน    +   แสงสีแดง   =   สีแดง (Magenta)
           แสงสีแดง        +   แสงสีเขียว  =   สีเหลือง (Yellow)

สีฟ้า  (Cyan)  สีแดง (Magenta)  สีเหลือง (Yellow) นี้นำมาใช้ในระบบการพิมพ์   และ มีการเพิ่มเติม สีดำเข้าไป เพื่อให้
มีน้ำหนักเข้มขึ้นอีก เมื่อรวมสีดำ ( Black = K ) เข้าไป จึงมีสี่สี โดยทั่วไปจึงเรียกระบบการพิมพ์นี้ว่าระบบการพิมพ์สี่สี
(CMYK ) 
          ระบบการพิมพ์สี่ส ี ( CMYK )  เป็นการพิมพ์ภาพในระบบที่ทันสมัยที่สุด   และได้ภาพ ใกล้เคียงกับภาพถ่าย
มากที่สุด โดยทำการพิมพ์ทีละส ี จากสีเหลือง  สีแดง   สีน้ำเงิน  และสีดำ ถ้าลองใช้แว่นขยายส่องดู ผลงานพิมพ์ชนิดนี้
จะพบว่า จะเกิดจากจุดสีเล็ก ๆ สี่สีอยู่เต็มไปหมด การที่เรามองเห็นภาพมีสีต่าง ๆ นอกเหนือจากสี่สีนี้  เกิดจากการผสมของ
เม็ดสีเหล่านี้ใน ปริมาณต่าง ๆ    คิดเป็น % ของปริมาณเม็ดสี ซึ่งกำหนดเป็น 10-20-30-40-50-60-70-80-90 จนถึง
 100 %
รูปภาพของ jingle

 

         
          แม่สี คือ สีที่นำมาผสมกันแล้วทำให้เกิดสีใหม่ ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากสีเดิม
แม่สี มือยู่  2 ชนิด คือ
1. แม่สีของแสง เกิดจากการหักเหของแสงผ่านแท่งแก้วปริซึม มี 3 สี คือ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน อยู่ในรูปของแสง
รังสี  ซึ่งเป็นพลังงานชนิดเดียวที่มีสี คุณสมบัติของแสงสามารถนำมาใช้ ในการถ่ายภาพ ภาพโทรทัศน์ การจัดแสงสี
ในการแสดงต่าง ๆ เป็นต้น (ดูเรื่อง แสงสี )
2. แม่สีวัตถุธาตุ เป็นสีที่ได้มาจากธรรมชาติ และจากการสังเคราะห์โดยกระบวนทางเคมี มี 3 สี คือ สีแดง สีเหลือง และสี
น้ำเงิน แม่สีวัตถุธาตุเป็นแม่สีที่นำมาใช้ งานกันอย่างกว้างขวาง ในวงการศิลปะ  วงการอุตสาหกรรม ฯลฯ

          แม่สีวัตถุธาตุ เมื่อนำมาผสมกันตามหลักเกณฑ์ จะทำให้เกิด วงจรสี ซึ่งเป็นวงสี
ธรรมชาติ เกิดจากการผสมกัน ของแม่สีวัตถุธาตุ เป็นสีหลักที่ใช้งานกันทั่วไป ในวงจรสี จะแสดงสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
 



          วงจรสี   ( Colour Circle)      สีขั้นที่ 1 คือ แม่สี ได้แก่ สีแดง   สีเหลือง  สีน้ำเงิน
   

  
สีขั้นที่ 2 คือ สีที่เกิดจากสีขั้นที่ 1 หรือแม่สีผสมกันในอัตราส่วนที่เท่ากัน จะทำให้
 
เกิดสีใหม่ 3 สี ได้แก่ 
                   สีแดง ผสมกับสีเหลือง  ได้สี ส้ม
                   สีแดง ผสมกับสีน้ำเงิน  ได้สีม่วง
                   สีเหลือง ผสมกับสีน้ำเงิน  ได้สีเขียว
  
   สีขั้นที่ 3 คือ สีที่เกิดจากสีขั้นที่ 1 ผสมกับสีขั้นที่ 2 ในอัตราส่วนที่เท่ากัน จะได้สีอื่น ๆ
  
  อีก 6  สี คือ
                   สีแดง ผสมกับสีส้ม  ได้สี ส้มแดง
                   สีแดง ผสมกับสีม่วง  ได้สีม่วงแดง
                   สีเหลือง ผสมกับสีเขียว ได้สีเขียวเหลือง
                   สีน้ำเงิน ผสมกับสีเขียว  ได้สีเขียวน้ำเงิน
                   สีน้ำเงิน ผสมกับสีม่วง  ได้สีม่วงน้ำเงิน
                   สีเหลือง ผสมกับสีส้ม ได้สีส้มเหลือง
 
  

          วรรณะของสี คือสีที่ให้ความรู้สึกร้อน-เย็น ในวงจรสีจะมีสีร้อน 7 สี และ สีเย็น 7 สี ซึ่งแบ่งที่ สีม่วงกับสีเหลือง
ซึ่งเป็นได้ทั้งสองวรรณะ
   

          สีตรงข้าม หรือสีตัดกัน หรือสีคู่ปฏิปักษ์ เป็นสีที่มีค่าความเข้มของสี ตัดกันอย่างรุนแรง ในทางปฏิบัติไม่นิยมนำมาใช้
ร่วมกัน เพราะจะทำให้แต่ละสีไม่สดใสเท่าที่ควร  การนำสีตรงข้ามกันมาใช้ร่วมกัน อาจกระทำได้ดังนี้

     1. มีพื้นที่ของสีหนึ่งมาก อีกสีหนึ่งน้อย
     2. ผสมสีอื่นๆ ลงไปสีสีใดสีหนึ่ง หรือทั้งสองสี
     3. ผสมสีตรงข้ามลงไปในสีทั้งสองสี
  

          สีกลาง คือ สีที่เข้าได้กับสีทุกสี สีกลางในวงจรสี มี 2 สี คือ สีน้ำตาล กับ สีเทา สีน้ำตาล เกิดจากสีตรงข้ามกันใน
วงจรสีผสมกัน ในอัตราส่วนที่เท่ากัน สีน้ำตาลมีคุณสมบัติสำคัญ คือ ใช้ผสมกับสีอื่นแล้วจะทำให้สีนั้น ๆ เข้มขึ้น
โดยไม่เปลี่ยนแปลงค่าสี ถ้าผสมมาก ๆ เข้าก็จะกลายเป็นสีน้ำตาล สีเทา เกิดจากสีทุกสี ๆ สีในวงจรสีผสมกัน
ในอัตราส่วนเท่ากัน สีเทา มีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ใช้ผสมกับสีอื่น ๆ แล้วจะทำให้ มืด หม่น ใช้ในส่วนที่เป็นเงา
ซึ่งมีน้ำหนักอ่อนแก่ในระดับต่าง ๆ ถ้าผสมมาก ๆ เข้าจะกลายเป็นสีเทา
 

 เป็นการใช้สีในลักษณะต่าง ๆ เพื่อเกิดความสวยงาม และความรู้สึก
ต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้สร้าง คุณลักษณะของสีที่ใช้
โดยทั่วไป มีดังนี้ คือ
 
          สีเอกรงค์  (Monochrome) เป็นการใช้สีเพียงสีเดียว แต่มีหลาย ๆ น้ำหนัก ซึ่งไล่เรียงจากน้ำหนักอ่อนไปแก่
เป็นการใช้สีแบบดั้งเดิม ภาพจิตรกรรมไทย แบบดั้งเดิมจะเป็นลักษณะนี้ ต่อมาเมื่อมีการใช้สีอื่น ๆ เข้ามาประกอบมากขึ้น
ทำให้มีหลายสี ซึ่งเรียกว่า "พหุรงค์" ภาพแบบสีเอกรงค์ มักดูเรียบ ๆ ไม่ค่อยน่าสนใจ
 
 
 
          วรรณะของสี  (Tone) สีมีอยู่ 2 วรรณะ คือ วรรณะสีร้อน และ สีเย็น สีร้อน คือสีที่ดูแล้วให้ความรู้สึกร้อน สีเย็น คือ
สีที่ดูแล้วรู้สึกเย็น ซึ่งอยู่ในวงจรสี สีม่วงกับสีเหลืองเป็นได้ทั้งสีร้อนและสีเย็น แล้วแต่ว่าจะอยู่กับกลุ่มสีใด การใช้สีใน
วรรณะเดียวกันจะทำให้เกิดรู้สึกกลมกลืนกัน การใช้สีต่างวรรณะจะทำให้เกิดความแตกต่าง ขัดแย้ง การเลือกใช้สีในวรรณะ
ใด ๆ ขึ้นอยู่กับความต้องการ และจุดมุ่งหมายของงาน
 
          ค่าน้ำหนักของสี  (Value of colour) เป็นการใช้สีโดยให้มีค่าน้ำหนักในระดับต่าง ๆ กัน และมีสีหลาย ๆ สี
ซึ่งถ้าเป็นสีเดียว ก็จะมีลักษณะเป็นสีเอกรงค์ การใช้ค่าน้ำหนักของสี จะทำให้เกิดความกลมกลืน เกิดระยะใกล้ไกล ตื้นลึก
ถ้ามีค่าน้ำหนักหลาย ๆ ระดับ สีก็จะกลมกลืนกันมากขึ้นแต่ถ้ามีเพียง1 - 2 ระดับที่ห่างกัน จะทำให้เกิดความแตกต่าง
  



          ความเข้มของสี  (Intensity)เกิดจาก สีแท้ คือสีที่เกิดจากการผสมกันในวงจรสี เป็นสีหลักที่ผสมขึ้นตามกกฎเกณฑ์
และไม่ถูกผสมด้วยสีกลางหรือสีอื่น ๆ จะมีค่าความเข้มสูงสุด หรือแรงจัดที่สุด เป็นค่าความแท้ของสีที่ไม่ถูกเจือปน
เมื่อสีเหล่านี้ อยู่ท่ามกลางสีอื่น ๆ ที่ถูกผสมให้เข้มขึ้น หรืออ่อนลง ให้มืด หม่น หรือเปลี่ยนค่าไปแล้ว สีแท้จะแสดงความแรง
ของสีปรากฎออกมาให้เห็น อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้เกิดจุดสนใจขึ้นในผลงานลักษณะเช่นนี้ เหมือนกับ ดอกเฟื่องฟ้า
สีชมพูสด ๆ หรือบานเย็น ที่อยู่ท่ามกลางใบเฟื่องฟ้าที่เขียวจัด ๆ หรือ พลุที่ถูกจุดส่องสว่างในยามเทศกาล ตัดกับสีมืด ๆ
ทึบ ๆ ทึมๆ ของท้องผ้ายามค่ำคืน เป็นต้น

          สีส่วนรวม (Tonality) เป็นลักษณะที่มีสีใดสีหนึ่ง หรือกลุ่มสีชุดหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน มีอิทธิพลครอบคลุม
สีอื่น ๆ ที่อยู่ในภาพ เช่น ในทุ่งดอกทานตะวันที่กำลังออกดอกชูช่อบานสะพรั่ง สีส่วนรวมก็คือ สีของดอกทานตะวัน หรือ
บรรยากาศการแข่งขันฟุตบอลในสนาม ถึงแม้ผู้เล่นทั้งสองทีมจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้า หลากสีต่างกันก็ตาม แต่ สีเขียวของ
สนามก็จะมีอิทธิพลครอบคลุม สีต่าง ๆ ทั้งหมด สีใดก็ตามที่มีลักษณะเช่นนี้  เป็นสีส่วนรวมของภาพ
 
ค่าน้ำหนัก   คือ   ค่าความอ่อนแก่ของบริเวณที่ถูกแสงสว่าง
และบริเวณที่เป็นเงาของวัตถุ หรือ ความอ่อน- ความเข้มของสีหนึ่ง ๆ
หรือหลายสี เช่น สีแดง มีความเข้มกว่าสีชมพู   หรือ  สีแดงอ่อนกว่า
                                                                 สีน้ำเงิน  เป็นต้น
นอกจากนี้ยังหมายถึงระดับความเข้มของแสงและระดับ ความมืดของเงา ซึ่งไล่เรียงจากมืดที่สุด (สีดำ)
ไปจนถึงสว่างที่สุด (สีขาว)  น้ำหนักที่อยู่ระหว่างกลางจะเป็นสีเทา ซึ่งมีตั้งแต่เทาแก่ที่สุด จนถึงเทาอ่อนที่สุด    
การใช้ค่าน้ำหนักจะทำให้ภาพดูเหมือนจริง และมีความกลมกลืน ถ้าใช้ค่าน้ำหนักหลาย ๆ  ระดับ จะทำให้มีความกลมกลืน
มากยิ่งขึ้น และถ้าใช้ค่าน้ำหนักจำนวนน้อยที่แตกต่างกันมาก จะทำให้เกิด ความแตกต่าง ความขัดแย้ง
     
          แสงและเงา (Light & Shade) เป็นองค์ประกอบของศิลป์ที่อยู่คู่กัน แสง เมื่อส่องกระทบ กับวัตถุ จะทำให้เกิดเงา
   แสงและเงาเป็นตัวกำหนดระดับของค่าน้ำหนัก  ความเข้มของเงาจะขึ้นอยู่กับความเข้มของเแสง  ในที่ที่มีแสงสว่างมาก
 เงาจะเข้มขึ้น และในที่ที่มีแสงสว่างน้อย เงาจะไม่ชัดเจน ในที่ที่ไม่มีแสงสว่าง จะไม่มีเงา และเงาจะอยู่ในทางตรงข้ามกับ
แสงเสมอ  ค่าน้ำหนัก ของแสงและเงานที่เกิดบนวัตถุ  สามารถจำแนกเป็นลักษณะที่ ต่าง ๆ ได้ดังนี้

    1. บริเวณแสงสว่างจัด  (Hi-light)  เป็นบริเวณที่อยู่ใกล้แหล่งกำเนิดแสงมากที่สุด   จะมีความสว่างมากที่สุด ในวัตถุที่มี
ผิวมันวาวจะสะท้อนแหล่งกำเนิดแสงออกมาให้เห็นได้ชัด
    2. บริเวณแสงสว่าง  (Light) เป็นบริเวณที่ได้รับแสงสว่าง รองลงมาจากบริเวณแสงสว่างจัด เนื่องจากอยู่ห่างจากแหล่ง
กำเนิดแสงออกมา และเริ่มมีค่าน้ำหนักอ่อน ๆ
    3. บริเวณเงา (Shade)  เป็นบริเวณที่ไม่ได้รับแสงสว่าง  หรือเป็นบริเวณที่ถูกบดบังจาก แสงสว่าง ซึ่งจะมีค่าน้ำหนัก
เข้มมากขึ้นกว่าบริเวณแสงสว่าง
    4. บริเวณเงานเข้มจัด (Hi-Shade) เป็นบริเวณที่อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดแสงมากที่สุด หรือ เป็นบริเวณที่ถูกบดบังมาก ๆ
หลาย ๆ ชั้น จะมีค่าน้ำหนักที่เข้มมากไปจนถึงเข้มที่สุด
    5. บริเวณเงาตกทอด เป็นบริเวณของพื้นหลังที่เงาของวัตถุทาบลงไป เป็นบริเวณเงาที่อยู่ ภายนอกวัตถุ และจะมี
ความเข้มของค่าน้ำหนักขึ้นอยู่กับ ความเข้มของเงา น้ำหนักของพื้นหลัง ทิศทางและระยะของเงา 

    ความสำคัญของค่าน้ำหนัก
    1. ให้ความแตกต่างระหว่างรูปและพื้น หรือรูปทรงกับที่ว่าง
    2. ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว
    3. ให้ความรู้สึกเป็น 2 มิติ แก่รูปร่าง และความเป็น 3 มิติแก่รูปทรง
    4. ทำให้เกิดระยะความตื้น - ลึก และระยะไกล้ - ไกลของภาพ
    5. ทำให้เกิดความกลมกลืนประสานกันของภาพ
รูปภาพของ jingle

                                     
 
                 รูปร่าง (Shape) คือ รูปแบน ๆ มี 2 มิติ มีความกว้างกับความยาว ไม่มีความหนาเกิดจากเส้นรอบนอก
ที่แสดงพื้นที่ขอบเขตของรูปต่าง ๆ เช่น รูปวงกลม  รูปสามเหลี่ยม หรือ รูปอิสระ ที่แสดงเนื้อที่ของผิวที่เป็นระนาบ
มากกว่าแสดงปริมาตรหรือมวล                
                 รูปทรง (Form) คือ รูปที่ลักษณะเป็น 3 มิติ โดยนอกจากจะแสดงความกว้าง ความยาวแล้ว ยังมีความลึก
หรือ ความหนา นูน ด้วย  เช่น รูปทรงกลม  ทรงสามเหลี่ยม ทรงกระบอก เป็นต้น ให้ความรู้สึกมีปริมาตร  ความหนาแน่น
มีมวลสาร ที่เกิดจากการใช้ค่าน้ำหนัก หรือ การจัดองค์ประกอบของรูปทรง หลายรูปรวมกัน  
รูปร่างและรูปทรง เป็นรูปธรรมของงานศิลปะ    ที่ใช้สื่อเรื่องราวจากงานศิลปะไปสู่ผู้ชม   
 
    
                รูปเรขาคณิต (Geometric Form) มีรูปที่แน่นอน มาตรฐาน สามารถวัดหรือ คำนวณได้ง่าย มีกฎเกณฑ์
เกิดจากการสร้าง ของมนุษย์ เช่น รูปสี่เหลี่ยม รูปวงกลม รูปวงรี นอกจากนี้ยังรวมถึงรูปทรงของสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์
คิดค้นขึ้น อย่างมีแบบแผน  แน่นอน  เช่น รถยนต์   เครื่องจักรกล   เครื่องบิน  สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ 
ที่ผลิตโดยระบบอุตสาหกรรม ก็จัดเป็นรูปเรขาคณิต เช่นกัน รูปเรขาคณิตเป็นรูป  ที่ให้โครงสร้างพื้นฐานของรูปต่าง ๆ
ดังนั้น  การสร้างสรรค์รูปอื่น ๆ  ควรศึกษารูปเรขาคณิตให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน 
 
 
                 รูปอินทรีย์ (Organic Form) เป็นรูปของสิ่งที่มีชีวิต หรือ คล้ายกับสิ่งมีชีวิต ที่สามารถ เจริญเติบโต เคลื่อนไหว
หรือ เปลี่ยนแปลงรูปได้ เช่นรูปของคน สัตว์ พืช
 
 
                 รูปอิสระ (Free Form) เป็นรูปที่ไม่ใช่แบบเรขาคณิต หรือแบบอินทรีย์ แต่เกิดขึ้นอย่างอิสระ
ไม่มีโครงสร้างที่แน่นอน ซึ่งเป็นไปตามอิทธิพล และการกระทำจากสิ่งแวดล้อม  เช่น รูปก้อนเมฆ  ก้อนหิน  หยดน้ำ ควัน
ซึ่งให้ความรู้สึก ที่เคลื่อนไหว มีพลัง รูปอิสระจะมีลักษณะ ขัดแย้งกับ รูปเรขาคณิต แต่กลมกลืน กับรูปอินทรีย์ 
รูปอิสระอาจเกิดจากรูป เรขาคณิต หรือรูปอินทรีย์ ที่ถูกกระทำ จนมีรูปลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิมจน ไม่เหลือสภาพ
เช่น รถยนต์ที่ถูกชนจนยับเยิน ทั้งคัน  เครื่องบินตกตอไม้ที่ถูกเผาทำลาย หรือซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยผุพัง 


          ความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรง 

        เมื่อนำรูปทรงหลาย ๆ รูปมาวางใกล้กัน  รูปเหล่านั้นจะมีความสัมพันธ์ดึงดูด  หรือผลักไส ซึ่งกันและกัน 

การประกอบกันของรูปทรง อาจทำได้โดย ใช้รูปทรงที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน รูปทรงที่ต่อเนื่องกัน รูปทรงที่ซ้อนกัน
รูปทรงที่ผนึกเข้าด้วยกัน รูปทรงที่แทรกเข้าหากัน รูปทรงที่สานเข้าด้วยกัน หรือ รูปทรงที่บิดพันกัน การนำรูปเรขาคณิต
รูปอินทรีย์ และรูปอิสระมาประกอบเข้าด้วยกัน จะได้รูปลักษณะใหม่ ๆ อย่างไม่สิ้นสุด 
 
หมายถึง  ความสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสมระหว่างขนาดของ องค์ประกอบ
ที่แตกต่างกัน ทั้งขนาดที่อยู่ในรูปทรงเดียวกันหรือระหว่างรูปทรง และรวมถึง
 ความสัมพันธ์กลมกลืนระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายด้วย ซึ่งเป็นความพอเหมาะพอดี ไม่มากไม่น้อย ขององค์ประกอบ
ทั้งหลายที่นำมาจัดรวมกัน ความเหมาะสมของสัดส่วนอาจ พิจารณาจากคุณลักษณะดังต่อไปนี้
 
 สัดส่วนที่เป็นมาตรฐาน จากรูปลักษณะตามธรรมชาต ของ คน สัตว์  พืช ซึ่งโดยทั่วไป
ถือว่า สัดส่วนตามธรรมชาติ จะมีความงามที่เหมาะสมที่สุด หรือจากรูปลักษณะที่เป็นการ สร้างสรรค์ของมนุษย์
เช่น Gold section เป็นกฎในการสร้างสรรค์รูปทรงของกรีก ซึ่งถือว่า "ส่วนเล็กสัมพันธ์กับส่วนที่ใหญ่กว่า  ส่วนที่ใหญ่กว่า
สัมพันธ์กับส่วนรวม"  ทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมีสัดส่วนที่สัมพันธ์กับทุกสิ่งอย่างลงตัว



  สัดส่วนจากความรู้สึก    โดยที่ศิลปะนั้นไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อความงามของรูปทรงเพียง อย่างเดียว แต่ยังสร้างขึ้น
เพื่อแสดงออกถึง  เนื้อหา เรื่องราว ความรู้สึกด้วย  สัดส่วนจะช่วยเน้นอารมณ์ ความรู้สึก ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์
และเรื่องราวที่ศิลปินต้องการ ลักษณะเช่นนี้ ทำให้งานศิลปะของชนชาติต่าง ๆ มีลักษณะแตกต่างกัน เนื่องจากมีเรื่องราว
 อารมณ์ และ ความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกต่าง ๆ กันไป เช่น   กรีก นิยมในความงามตามธรรมชาติเป็น อุดมคติ
เน้นความงามที่เกิดจากการประสานกลมกลืนของรูปทรง จึงแสดงถึงความเหมือน จริงตามธรรมชาติ ส่วนศิลปะแอฟริกัน
ดั้งเดิม เน้นที่ความรู้สึกทางวิญญานที่น่ากลัว ดังนั้น รูปลักษณะจึงมีสัดส่วนที่ผิดแผกแตกต่างไปจากธรรมชาติทั่วไป
 
หรือ ดุลยภาพ หมายถึง น้ำหนักที่เท่ากันขององค์ประกอบ 
ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง  ในทางศิลปะยังรวมถึง
ความประสานกลมกลืน ความพอเหมาะพอดีของ ส่วนต่าง ๆ ในรูปทรงหนึ่ง หรืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง การจัดวางองค์ประกอบ
ต่าง ๆ   ลงใน งานศิลปกรรมนั้นจะต้องคำนึงถึงจุดศูนย์ถ่วง ในธรรมชาตินั้น  ทุกสิ่งสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ล้มเพราะมี
น้ำหนักเฉลี่ยเท่ากันทุกด้าน   ฉะนั้น  ในงานศิลปะถ้ามองดูแล้วรู้สึกว่าบางส่วนหนักไป แน่นไป  หรือ เบา  บางไป
ก็จะทำให้ภาพนั้นดูเอนเอียง   และเกิดความ รู้สึกไม่สมดุล เป็นการบกพร่องทางความงาม 
ดุลยภาพในงานศิลปะ มี  2 ลักษณะ คือ
 
 
   ดุลยภาพแบบสมมาตร (Symmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาเหมือนกัน คือ การวางรูปทั้งสองข้าง
ของแกนสมดุล  เป็นการสมดุลแบบธรรมชาติลักษณะแบบนี้ใน ทางศิลปะมีใช้น้อย ส่วนมากจะใช้ในลวดลายตกแต่ง
ในงานสถาปัตยกรรมบางแบบ หรือ ในงานที่ต้องการดุลยภาพที่นิ่งและมั่นคงจริง ๆ
 
 
   ดุลยภาพแบบอสมมาตร (Asymmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาไม่เหมือนกัน
มักเป็นการสมดุลที่เกิดจาการจัดใหม่ของมนุษย์   ซึ่งมีลักษณะที่ทางซ้ายและขวาจะไม่เหมือนกัน ใช้องค์ประกอบที
ไม่เหมือนกัน  แต่มีความสมดุลกัน   อาจเป็นความสมดุลด้วย น้ำหนักขององค์ประกอบ หรือสมดุลด้วยความรู้สึกก็ได้ 
การจัดองค์ประกอบให้เกิดความ สมดุลแบบอสมมาตรอาจทำได้โดย  เลื่อนแกนสมดุลไปทางด้านที่มีน้ำหนักมากว่า  
หรือ เลื่อนรูปที่มีน้ำหนักมากว่าเข้าหาแกน  จะทำให้เกิดความสมดุลขึ้น หรือใช้หน่วยที่มีขนาดเล็กแต่มีรูปลักษณะที่
น่าสนใจถ่วงดุลกับรูปลักษณะที่มีขนาดใหญ่แต่มีรูปแบบธรรมดา
รูปภาพของ jingle


 

หมายถึง  การเคลื่อนไหวที่เกิดจาการซ้ำกันขององค์ประกอบ
 เป็นการซ้ำที่เป็นระเบียบ จากระเบียบธรรมดาที่มีช่วงห่างเท่าๆ กัน มาเป็นระเบียบที่สูงขึ้น ซับซ้อนขึ้น จนถึงขั้นเกิดเป็นรูป
ลักษณะของศิลปะ  โดยเกิดจาก การซ้ำของหน่วย หรือการสลับกันของหน่วยกับช่องไฟ หรือเกิดจาก การเลื่อนไหล
ต่อเนื่องกันของเส้น สี รูปทรง หรือ น้ำหนัก



     รูปแบบๆ หนึ่ง อาจเรียกว่าแม่ลาย  การนำแม่ลายมาจัดวางซ้ำ ๆ กันทำให้เกิดจังหวะ และ ถ้าจัดจังหวะให้แตกต่างกัน
ออกไป ด้วยการเว้นช่วง หรือสลับช่วง ก็จะเกิดลวดลาย ที่แตกต่างกันออกไป ได้อย่างมากมาย แต่จังหวะของลายเป็น
จังหวะอย่างง่าย ๆ ให้ความ รู้สึกเพียงผิวเผิน และเบื่อง่าย เนื่องจากขาดความหมาย เป็นการรวมตัวของสิ่งที่เหมือนกัน
 แต่ไม่มีความหมายในตัวเอง จังหวะที่น่าสนใจและมีชีวิต ได้แก่ การเคลื่อนไหวของ คน สัตว์  การเติบโตของพืช 
การเต้นรำ เป็นการเคลื่อนไหวของโครงสร้างที่ให้ความบันดาล ใจในการสร้างรูปทรงที่มีความหมาย


     เนื่องจากจังหวะของลายนั้น ซ้ำตัวเองอยู่ตลอดไปไม่มีวันจบ และมีแบบรูปของการซ้ำ ที่ตายตัว แต่งานศิลปะแต่ละชิ้น
จะต้องจบลงอย่างสมบูรณ์ และมีความหมายในตัว งานศิลปะทุกชิ้นมีกฎเกณฑ์และระเบียบที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน 
ไม่สามารถมอง เห็นได้ชัดเจน งานชิ้นใดที่แสดงระเบียบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกินไป งานชิ้นนั้นก็จะจำกัดตัวเอง
ไม่ต่าง อะไรกับลวดลายที่มอง เห็นได้ง่าย ไม่มีความหมาย ให้ผลเพียงความเพลิดเพลินสบายตา แก่ผู้ชม 
 
หมายถึง  การกระทำให้เด่นเป็นพิเศษกว่าธรรมดา ในงานศิลปะจะต้องมี ส่วนใด
ส่วนหนึ่ง  หรือจุดใดจุดหนึ่ง ที่มีความสำคัญกว่าส่วนอื่น ๆ   เป็นประธานอยู่ ถ้าส่วนนั้นๆ อยู่ปะปนกับส่วนอื่น ๆ 
และมีลักษณะเหมือน ๆ กัน  ก็อาจถูกกลืน หรือ ถูกส่วนอื่นๆ ที่มีความสำคัญน้อยกว่าบดบัง หรือแย่งความสำคัญ
ความน่าสนใจไปเสีย งานที่ไม่มีจุดสนใจ หรือประธาน  จะทำให้ดูน่าเบื่อ เหมือนกับลวดลายที่ถูกจัดวางซ้ำกัน โดยปราศจาก
ความหมาย หรือเรื่องราวที่น่าสนใจ ดังนั้น  ส่วนนั้นจึงต้องถูกเน้น ให้เห็นเด่นชัดขึ้นมา เป็นพิเศษกว่าส่วนอื่น ๆ  ซึ่งจะทำให้
ผลงานมีความงาม สมบูรณ์ ลงตัว และน่าสนใจมากขึ้น การเน้นจุดสนใจสามารถทำได้  3  วิธี คือ

      การเน้นด้วยการใช้องค์ประกอบที่ตัดกัน (Emphasis by Contrast) สิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากส่วนอื่นๆ ของงาน
จะเป็นจุดสนใจ ดังนั้น การใช้องค์ประกอบที่มีลักษณะ แตกต่าง หรือขัดแย้ง กับส่วนอื่น ก็จะทำให้เกิดจุดสนใจขึ้น
ในผลงานได้ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาลักษณะความแตกต่างที่นำมาใช้ด้วยว่า ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันในส่วนรวม และ
ทำให้เนื้อหาของงานเปลี่ยนไปหรือไม่  โดยต้องคำนึงว่า แม้มีความขัดแย้ง แตกต่างกันในบางส่วน และในส่วนรวมยังมี
ความกลมกลืนเป็นเอกภาพเดียวกัน
 
     การเน้นด้วยการด้วยการอยู่โดดเดี่ยว (Emphasis by Isolation)  เมื่อสิ่งหนึ่งถูกแยก ออกไปจากส่วนอื่น ๆ ของภาพ
หรือกลุ่มของมัน สิ่งนั้นก็จะเป็นจุดสนใจ เพราะเมื่อแยกออกไปแล้วก็จะเกิดความสำคัญขึ้นมาซึ่งเป็นผลจากความแตกต่าง
ที่ไม่ใช่แตกต่างด้วยรูปลักษณะ แต่เป็นเรื่องของตำแหน่งที่จัดวาง ซึ่งในกรณีนี้ รูปลักษณะนั้นไม่ จำเป็นต้องแตกต่าง
จากรูปอื่น แต่ตำแหน่งของมันได้ดึงสายตาออกไป จึงกลายเป็นจุดสนใจขึ้นมา
 
 
     การเน้นด้วยการจัดวางตำแหน่ง (Emphasis by Placement) เมื่อองค์ประกอบอื่น ๆ ชี้นำมายังจุดใด ๆ จุดนั้น
ก็จะเป็นจุดสนใจที่ถูกเน้นขึ้นมา และการจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสม ก็สามารถทำให้จุดนั้นเป็นจุดสำคัญขึ้นมาได้เช่นกัน
พึงเข้าใจว่า การเน้น ไม่จำเป็นจะต้องชี้แนะให้เห็นเด่นชัดจนเกินไป สิ่งที่จะต้อง ระลึกถึงอยู่เสมอ คือ เมื่อจัดวาง
จุดสนใจแล้ว จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งอื่นมา ดึงความสนใจออกไป จนทำให้เกิดความสับสน  การเน้น
สามารถกระทำได้ด้วยองค์ ประกอบต่าง ๆ ของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น เส้น  สี แสง-เงา  รูปร่าง รูปทรง หรือ พื้นผิว  ทั้งนี้ขึ้นอยู่
กับความต้องการในการนำเสนอของศิลปินผู้สร้างสรรค์
รูปภาพของ jingle

หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์ประกอบศิลป์ทั้งด้านรูปลักษณะ
และด้านเนื้อหาเรื่องราว  เป็นการประสานหรือจัดระเบียบของส่วนต่าง ๆ
ให้เกิดความเป็น หนึ่งเดียว เพื่อผลรวมอันไม่อาจแบ่งแยกส่วนใดส่วนหนึ่งออกไป
 การสร้างงานศิลปะ คือ  การสร้างเอกภาพขึ้นจากความสับสน  ความยุ่งเหยิง  เป็นการจัดระเบียบ และดุลยภาพ ให้แก่สิ่งที่
ขัดแย้งกันเพื่อให้รวมตัวกันได้ โดยการเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆให้สัมพันธ์กัน  เอกภาพของงานศิลปะ มีอยู่  2 ประการ คือ
 
 
     เอกภาพของการแสดงออก หมายถึง การแสดงออกทีมีจุดมุ่งหมายเดียว แน่นอน และมีความเรียบง่าย  งานชิ้นเดียวจะ
แสดงออกหลายความคิด หลายอารมณ์ไม่ได้ จะทำให้สับสน ขาดเอกภาพ  และการแสดงออกด้วยลักษณะเฉพาตัวของ
ศิลปินแต่ละคน ก็สามารถทำให้ เกิดเอกภาพแก่ผลงานได้

     เอกภาพของรูปทรง คือ การรวมตัวกันอย่างมีดุลยภาพ และมีระเบียบขององค์ประกอบ ทางศิลปะ
เพื่อให้เกิดเป็นรูปทรงหนึ่ง ที่สามารถแสดงความคิดเห็นหรืออารมณ์ของศิลปิน ออกได้อย่างชัดเจน เอกภาพของรูปทรง
เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อความงามของผลงานศิลปะ เพราะเป็นสิ่งที่ศิลปินใช้เป็นสื่อในการแสดงออกถึงเรื่องราว  ความคิด
และอารมณ์  ดังนั้น  กฎเกณฑ์ในการสร้างเอกภาพในงานศิลปะเป็นกฎเกณฑ์เดียวกันกับธรรมชาติ  ซึ่งมีอยู่ 2 หัวข้อ  คือ 


1. กฎเกณฑ์ของการขัดแย้ง (Opposition) มีอยู่ 4 ลักษณะ คือ
          1.1 การขัดแย้งขององค์ประกอบทางศิลปะแต่ละชนิด  และรวมถึงการขัดแย้งกันขององค์ประกอบต่างชนิดกันด้วย
          1.2 การขัดแย้งของขนาด
          1.3 การขัดแย้งของทิศทาง
          1.4 การขัดแย้งของที่ว่างหรือ จังหวะ

 2. กฎเกณฑ์ของการประสาน (Transition) คือ การทำให้เกิดความกลมกลืน ให้สิ่งต่าง ๆ เข้ากันด้อย่างสนิท     
เป็นการสร้างเอกภาพจากการรวมตัวของสิ่งที่เหมือนกันเข้าด้วยกัน
     การประสานมีอยู่  2   วิธี  คือ
          2.1 การเป็นตัวกลาง (Transition) คือ  การทำสิ่งที่ขัดแย้งกันให้กลมกลืนกัน ด้วยการใช้ตัวกลางเข้าไปประสาน
เช่น สีขาว กับสีดำ ซึ่งมีความแตกต่าง ขัดแย้งกันสามารถทำให้ อยู่ร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ ด้วยการใช้สีเทาเข้าไป
ประสาน  ทำให้เกิดความกลมกลืนกันมากขึ้น
          2.2 การซ้ำ (Repetition)  คือ การจัดวางหน่วยที่เหมือนกันตั้งแต่ 2 หน่วยขึ้นไป เป็น การสร้างเอกภาพที่ง่ายที่สุด
 แต่ก็ทำให้ดูจืดชืด น่าเบื่อที่สุด
 นอกเหนือจากกฎเกณฑ์หลักคือ การขัดแย้งและการประสานแล้ว ยังมีกฎเกณฑ์รอง  อีก 2 ข้อ คือ
           1. ความเป็นเด่น (Dominance)  ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ 
               1.1 ความเป็นเด่นที่เกิดจากการขัดแย้ง ด้วยการเพิ่ม หรือลดความสำคัญ   ความน่าสนใจในหน่วยใดหน่วยหนึ่ง
ของคู่ที่ขัดแย้งกัน 
               1.2 ความเป็นเด่นที่เกิดจากการประสาน
2. การเปลี่ยนแปร (Variation) คือ การเพิ่มความขัดแย้งลงในหน่วยที่ซ้ำกัน เพื่อป้องกัน  ความจืดชืด น่าเบื่อ

ซึ่งจะช่วยให้มีความน่าสนใจมากขึ้น การเปลี่ยนแปรมี  4  ลักษณะ คือ 
               2.1 การปลี่ยนแปรของรูปลักษณะ
               2.2 การปลี่ยนแปรของขนาด
               2.3 การปลี่ยนแปรของทิศทาง
               2.4 การปลี่ยนแปรของจังหวะ
           

     การเปลี่ยนแปรรูปลักษณะจะต้องรักษาคุณลักษณะของการซ้ำไว้ ถ้ารูปมีการเปลี่ยนแปรไปมาก 
การซ้ำก็จะหมดไป  กลายเป็นการขัดแย้งเข้ามาแทน และ ถ้าหน่วยหนึ่งมีการเปลี่ยนแปรอย่างรวดเร็ว มีความแตกต่าง
จากหน่วยอื่น ๆ มาก   จะกลายเป็นความเป็นเด่นเป็นการสร้างเอกภาพด้วยความขัดแย้ง 
 
 ในการจัดทำสื่อการเรียนรู้ครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณแหล่งข้อมูล เป็นอย่างสูง ..